CeeFanClub.com: IT is My Life ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ - CeeFanClub.com

Jump to content

Page 1 of 1
  • You cannot start a new topic
  • You cannot reply to this topic

IT is My Life ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ วันที่ 6 มีนาคม 255

#1 User is offline   Admin 

  • Administrator
  • Icon
  • Group: Administrators
  • Posts: 623
  • Joined: 14-August 10

Posted 09 March 2012 - 01:03 PM

IT is My Life ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์
สัมภาษณ์จาก Life Style กรุงเทพธุรกิจ
Posted Image

ไม่ได้มีดีแค่สวย แต่มากด้วยความสามารถ ถ้าชอบชีวิตสมาร์ทๆ กดไลค์ได้เลยสำหรับเจ้าหญิงไอทีคนนี้

สาวสวยคนนี้แจ้งเกิดบนโลกออนไลน์ ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนท์ด้านไอทีที่น่าจับตา ‘มอง’ มากที่สุด


แต่ที่ทำให้ภาพของความเป็นเจ้าหญิงไอทีโดดเด่นเป็นพิเศษ น่าจะมาพร้อมกับบทบาทการเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ ทั้งแบไต๋ไฮเทค ทางเนชั่นแชนแนล เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 และไซเบอร์ ซิตี้ ช่อง 5 ซึ่งไม่ว่าจะโฟกัสไปที่รูปร่างหน้าตา การทำหน้าที่พิธีกร หรือมุมมองความคิด เธอก็สมกับตำแหน่งนี้แบบไม่มีข้อกังขา


‘ซี’ ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ บอกว่าสนใจเรื่องราวของเทคโนโลยีสารสนเทศ ตั้งแต่เป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อค้นพบงานที่ชอบ ก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้เส้นทางนี้เป็นทางที่ใช่สำหรับตัวเอง

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ คุณจะพบชื่อของ ซี-ฉัตรปวีณ์ ได้เสมอ เพราะเธอมีทั้งงานเขียนในสื่อสิ่งพิมพ์ บล็อก เว็บไซต์ ส่วนงานพิธีกรก็มีทั้งในฟรีทีวี เคเบิลทีวี รวมถึงทีวีออนไลน์ ceemeagain.com ที่เหมาทั้งงานเบื้องหน้าคือการเป็นพิธีกร ไปจนถึงงานเบื้องหลังอย่างการคิดรายการ เขียนบท ถ่ายทำและตัดต่อด้วยตัวเอง

ในวัย 27 ปี แม้จะผ่านงานมาแล้วหลายรูปแบบ แต่ถ้าจะให้ตรงใจ เธอขอเรียกตัวเองว่า "นักข่าวไอที" มากกว่าอย่างอื่น


-คนทั่วไปมักมองกันว่าผู้หญิงน้อยมากที่จะมาสนใจเรื่อง IT อย่างจริงจัง คุณคิดอย่างไร

จริงๆ มีผู้หญิงที่ชอบเรื่องไอทีอยู่พอสมควร และผู้หญิงจะเป็นคนละเอียดละออกับเรื่องนี้มากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ผู้หญิงจะเป็นแบบรู้อะไร ฉันต้องรู้ให้หมด รู้ให้ครบ แต่เรื่องไอทีหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าไม่ชอบจริงๆ คงทำไม่ได้
จริงๆ พื้นฐาน ซี จบนิเทศศาสตร์จากจุฬาฯ แต่จบด้าน JR (วารสารสนเทศและสื่อสิ่งพิมพ์) อยากทำด้านเขียนข่าวแล้วเราก็มีทักษะการเขียนพอสมควร แต่พอมาเจอคนสายไอที เขาสอนวิธีการทำงานของนักข่าวโลกออนไลน์ว่าลักษณะข่าวมีกี่ประเภทยังไงบ้าง เราก็เปิดโลกมากขึ้นว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีแค่กล้อง แล็ปทอป หรือแค่ที่เราเห็น มันมีหุ่นยนต์ มีนวัตกรรมบางอย่างที่เราไม่เคยรู้ตั้งแต่ตอนนั้นมาก็ติดใจ


-หลายคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ค่อนข้างใช้เวลาในการค้นหาตัวเอง ทำไมคุณเจอความถนัด ความชอบได้เร็วขนาดนี้

ซีเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นในตัวเองสูงมาก ถ้าใครเจอซีจะรู้ว่าไฟแรงมาก แล้วซีก็เป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิตอยู่พอสมควร ตอนที่เราเอ็นทรานซ์ ก็ตั้งเป้าเข้านิเทศฯจุฬาฯที่เดียวเลย ไม่มีคณะอื่น สถาบันอื่น พอได้เข้ามาเรียนปั๊บ ก็ค้นพบตัวเองทันเวลาว่าจะต้องเรียนเมเจอร์ทางสายข่าว และไมเนอร์ทางการพูดอย่างนี้ มันเป็นขั้นๆ ไป แล้วการทำงานก็เป็นส่วนหนึ่งให้เราได้ค้นพบตัวเองได้ดีมาก ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซีพยายามทำงานทุกอย่างที่มีโอกาสทำได้ ไม่ว่าจะเล่นมิวสิควีดิโอ รุ่นพี่ให้ไปแคส ก็ลองไปแคสดู ซึ่งงานที่แคสแล้วได้แทบทุกงานเลยคืองานสายพิธีกร เพราะซีเป็นคนจำสคริปต์เร็ว ตอนแรกก็ไม่ค่อยได้เรื่อง คือท่องเอา ตอนนั้นพูดแบบหุ่นยนต์ ตามสคริปต์เป๊ะ แต่ด้วยความที่เราจำเร็วทำให้เวลาแคสพิธีกรส่วนใหญ่จะได้ เลยมีโอกาสทำงานสายพิธีกรเยอะ ตั้งแต่เกมโชว์ถึงงานวาไรตี้ เลยมีพัฒนาการในด้านการเป็นพิธีกรพอสมควร

- คุณสมบัติที่เป็นคนมุ่งมั่นได้มาจากใคร


ครอบครัวค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะสอนเราเสมอว่าให้เป็นคนใฝ่ดี คำว่าใฝ่ดี คือคิดถึงตัวเอง รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการคืออะไร พอเรามีจิตสำนึกที่ดี ไม่ว่าจะห่างไกลจากพ่อแม่ อย่างไปเรียนต่างประเทศหรืออะไร เราก็ยังเป็นเรา ไม่เป็นอะไรที่เกินความเป็นตัวตนของเรา


-มาทำด้านไอที ได้ใช้ความรู้นิเทศศาสตร์มาช่วยอย่างไรบ้าง

ช่วยมากๆ เลยค่ะ เคยมีคนถามซีว่า เสียใจมั้ยที่ไม่เรียนวิศวะ ไม่เสียใจเลย เพราะถ้าซีไม่เรียนนิเทศศาสตร์ ไม่มีวันทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ โดยเฉพาะเรื่องไอทีมีแต่เรื่องยากๆ ทั้งนั้น กว่าจะอธิบายให้คนเข้าใจว่า อย่างเราเตอร์ คืออะไร ไวเลสมาไง 3 จีดียังไง ทุกอย่างเป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นนักข่าวไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่นักข่าวต้องไปแสวงหาเรื่องที่คนอยากจะรู้ เรื่องที่เป็นประเด็นแล้วมาบอกต่อ

อย่างซีอยู่วงการไอที จะรู้สึกว่าคนทำนวัตกรรมเขาเก่งมากเลยที่คิดออกแล้วทำได้ ซึ่งในส่วนของการเป็นนักข่าว เรารู้สึกว่าเราได้แต่พูด ได้แต่นำเสนอ แต่ไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่เหมือนอินเวสเตอร์ที่เป็นนักประดิษฐ์เขาสร้างสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกที่มีผลต่อความรู้สึกคน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เป็นจิกซอว์อีกชิ้นนึงที่มีความสำคัญ อย่างซีออกจอ ซีคุยกับกล้อง ซีเห็นแค่กล้อง แต่คนอีกกี่หมื่นกี่แสนที่ดูอยู่เขาจะรับรู้ข้อมูลที่เราเล่าให้ฟัง ซีมักจะบอกว่าคุณอย่าฟุ่มเฟือยกับมัน คุณรู้แล้วว่าโลกพัฒนาไปถึงไหน ประเทศไทยทำอะไรอยู่ แล้วคุณจะใช้มันยังไง ทุกครั้งซีจะต้องฝากเรื่องพวกนี้เข้าไป อย่างน้อยๆ เราก็เป็นแรงกระเพื่อมเล็กๆ เป็นสื่อก็จริง ไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ก็จริง แต่ว่าเราต้องไปรันเรื่องเล็กๆ ให้คนคิดได้ คนเข้าใจมันง่ายขึ้น


-คุณมีวิธีแสวงหาความรู้อย่างไร

ทุกอย่างเป็นความรู้หมดเลย เพราะเราต้องตามข่าวตลอดเวลา วนเวียนในวงไอที พยายามอ่านให้ได้แทบทุกหัวทุกวัน ทำการเปรียบเทียบ เพราะการที่เราเอาข่าวต่างประเทศมานำเสนอบ่อยๆ ก็รู้สึกว่ายังห่างไกลคนไทยมาก ก็ต้องไปฟัง ไปดู ไปถามกูรู และศึกษาเรื่องรอบๆ ตัวเสมอ

-ถึงจะมีบทบาทหลายๆ ด้าน เป็นพิธีกรบ้าง เป็นนักแสดงในบางครั้ง แต่คุณเรียกตัวเองเป็นนักข่าวอย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะอะไร

ใช่ค่ะ คือซีเคารพในจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเซเลบ หรืออะไรอย่างนั้น ซีก็ยังเป็นซีอยู่ อาชีพนี้ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่เรามีโอกาสอยู่ในทีวีด้วย นอกเหนือจากการเขียนข่าวของเรา พอได้ออกจอคนเริ่มรู้จัก แล้วเราก็มีไฟ เริ่มคิดว่าไม่ใช่แค่การเป็นนักข่าว แต่ว่าอินกับไอที จนอยากทำรายการเกี่ยวกับไอทีสนุกๆ ให้เด็กดูได้ เพราะรูปแบบข่าวบางทีให้เด็กดูจะรู้สึกว่าหนักอะไรอย่างนี้ ทีนี้พอเรามาทำเป็นรายการบ้างอะไรบ้าง หลายๆ อย่างผสมกันไปก็ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ส่วนตัวแล้วถือว่าตัวเองเป็นนักข่าวสายไอทีมากกว่า

-การทำงานในลักษณะนี้ ต้องอยู่กับโปรดักท์ อยู่กับบางอย่างที่คอมเมอเชียลมากๆ ในความเป็นสื่อจัดการเรื่อง conflict of interest อย่างไร


โห..เป็นคำถามที่ดีมาก ยังไม่เคยมีใครถามซีแบบนี้เลย ... มีแน่นอนค่ะ คือในฐานะสื่อต้องมีความเป็นกลาง รายการต้องอยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์ชิป แล้วเราจะอยู่ตรงจุดไหน ...แรกๆ ก็มีความสับสนอยู่เหมือนกัน แต่หลังๆ เราเริ่มมีโอกาสมากขึ้น มีอำนาจต่อรอง เพราะฉะนั้นก็จะพูดกับลูกค้าได้ตรงๆ อย่างบางรายการที่ซีทำสคริปต์ให้ คือซีเป็นมาร์เก็ตติ้งด้วย ก็จะคุยกับลูกค้าตรงๆ เลยว่าไม่ฮาร์ดเซล เราไม่ว่าโปรดักท์เขา แต่ในแง่หนึ่งเราต้องเป็นธรรมกับคนดู ต้องบอกกับคนดูว่า ไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่เพอร์เฟกต์กับทุกคน แต่มีเทคโนโลยีที่เพอร์เฟกต์สำหรับคุณแบบนี้ค่ะ

-เท่ากับว่าต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น?

คือต้องมีตรงกลางด้วย อันไหนที่มันมากเกินไป ซีว่าอย่าโลภค่ะ ในแง่ของการเป็นนักข่าวมีแค่นั้นล่ะ คืออาจารย์ซีเคยสอนไว้ว่าอย่าโลภ ตั้งแต่ฝึกงานที่บางกอกโพสต์ บก.ก็จะบอกว่าเวลาที่ใครให้อะไรมาถึงแม้ว่าคุณจะเป็นเด็กฝึกงานก็ไม่ควรรับอะไรทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ มันเป็นพื้นฐานที่เรารู้สึกว่า ถึงแม้จะไม่ได้เรียกว่าเป็นนักข่าวเหมือนพี่ๆ ที่เขาเป็นนักข่าวอาชีพจริงๆ แต่เรามีไฮบริดครึ่งนึง แล้วความรู้สึกภายในก็รู้สึกภูมิใจในการเป็นนักข่าวมาก เพราะว่าไม่ใช่ง่ายๆ ไม่ใช่ทุกคนเป็นได้


-ถ้าอย่างนั้นในฐานะนักข่าวไอที คิดอย่างไรกับนโยบายการแจกแทบเล็ต

จริงๆ เรื่องนี้มันอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ดี ที่อยากให้เด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แต่ก่อนทำการแจก ส่วนตัวซีอยากแนะนำว่า หนึ่งต้องดูกลุ่มอายุในการใช้งานเทคโนโลยี สองต้องสอนครู ก่อนครูจะสอนตำราสักเล่มหนึ่ง ครูต้องมีความถ่องแท้ในตำรานั้นก่อน คือรู้จนทะลุปรุโปร่งว่าสิ่งที่เขาจะสอนเด็กคืออะไร เพราะฉะนั้นก่อนแจกเด็กควรเทรนครูก่อน จะได้เห็นว่ามีช่องว่างอะไรที่จะเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ที่จะแจกเด็ก อะไรคือสิ่งที่เด็กจะได้รับ แล้วเด็กจะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นเต็มที่ค่ะ แจกไปเถอะซีว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่ากลุ่มอายุก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าเด็กเล็กๆ จะมีพัฒนาการของสมองของการเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งถ้าเราแจกเด็กเล็กเกินไป ต้องดูว่าเขาจะเอามาใช้อะไรได้บ้าง แต่ถ้าเป็นเด็กโตระดับมัธยมศึกษาอาจจำเป็นต้องใช้มากกว่าในการศึกษาหาข้อมูลให้ทัดเทียมกับเด็กต่างชาติ

-มองการใช้ไอทีของคนไทยอย่างไร

ขอยกคำพูดพี่จอห์น (รัตนเวโรจน์) ที่พูดในรายการ ซึ่งซีประทับใจคือ ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่ผลิตเทคโนโลยี เรายังซื้อโทรศัพท์มือถือของประเทศอื่น เรายังใช้แอพ กูเกิล เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ที่พัฒนาจากประเทศอื่น ประเทศเราเริ่มมีแอพดิเวลอปเปอร์บ้างประปราย แต่ว่าในแง่ของอุตสาหกรรมที่เป็นฮาร์ดแวร์จริงๆ ยังน้อยที่เราคิดผลิตเอง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานตั้งในเมืองไทย ดังนั้นอยากบอกว่าคนไทยยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเหมือนประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีสักเท่าไร บางครั้งเราซื้อมาใช้มาอวดกันว่าเราก็มี คือตามกระแสกันอยู่พอสมควร แต่ในแง่หนึ่ง ซีเชื่อว่าไม่สายเกินไป เราในฐานะสื่อก็ค่อยๆ บอกทุกคนว่าเขาจะใช้ยังไงให้ต่อไปวิธีการคิดของเขาคือการต่อยอดจากเทคโนโลยีเหล่านั้น


คุณมีไอโฟน คุณสามารถเปิดร้านขายของออนไลน์ คุณสามารถเช็คร้านของคุณผ่านทางออนไลน์ได้ ซึ่งมีหลายอย่างที่ต่อยอดจากตรงนั้นได้บนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่ไปตำหนิติติงใคร เพราะมันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแต่ละสังคมว่าความพร้อมจะเป็นอย่างไร


-เรียกว่าเราต้องปรับตัวเองจากผู้รับเทคโนโลยี มาเป็นนายของเทคโนโลยี?

อืม..ใช้คำนี้เลยค่ะ เป็นเจ้านายของเทคโนโลยี เริ่มแรกเลยคือเลือกรับเทคโนโลยีก่อน เริ่มต้นจากการคิดว่าควรจะเลือกซื้อเทคโนโลยีแบบไหน เวลาคนถามซีว่า จะซื้อไอโฟนหรือซื้อแอนดรอยด์ คนจะถามแบบนี้เยอะมาก หรือจะซื้อไอแพด หรือโน้ตบุ๊คดี


คุณต้องเข้าใจตัวเองก่อน อยู่บนพื้นฐานที่เลือกให้เป็น คือพอเราคำนวณเงินในกระเป๋าตังค์ปั๊บ ต้องอยู่บนพื้นฐานความพอเพียงด้วยนะ ดูเงินในกระเป๋าว่ามีเท่าไหร่ แล้วจะแคบลงมาแล้วว่าเราจะเลือกอะไร หลังจากนั้นค่อยไปดูว่าการใช้สอยของเราคืออะไร อย่าไปคิดแค่ตามกระแส ซีว่ากระแส ส่วนหนึ่งทำให้เราตามๆ กันไป ไม่ได้ใช้อะไรที่ใช่กับเรามากนัก อุปกรณ์ถึงจะเจ๋งสุด นวัตกรรมระดับบิดาโลกไอทีก็จริงแต่ว่าไม่ได้เหมาะกับทุกคน เหมาะแค่บางคน จะมีของที่เพอร์เฟกต์กับเรา แต่ไม่ได้เพอร์เฟกต์กับทุกคน


-ดูจากพฤติกรรมการใช้ไอทีของคนทุกวันนี้ คิดว่าเรื่องไหนน่ากังวลที่สุด

โดยรวมคนไทยไม่ได้มีอะไรน่ากังวลมาก แต่จะมีแค่บางกลุ่ม ซีไม่ได้กลัวกลุ่มเด็ก แต่กลัวกลุ่มผู้ใหญ่ขึ้นไปมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเคยไปคุยกับตำรวจไซเบอร์บ้าง ดีเอสไอบ้าง เราก็ได้ข้อมูลที่แบบอันซีนมากว่าเด็กก็มีเรื่องเสียไม่กี่เรื่อง อย่างเด็กผู้หญิงก็มีเรื่องเดียว แต่ผู้ใหญ่นี่สิมีเรื่องให้เสียเยอะ กลุ่มผู้ใหญ่มักผลักภาระว่าเรื่องไอทีหรือเรื่องไฮเทคให้เด็กๆ รู้ไป ส่วนผู้ใหญ่ก็ไปทำหน้าที่ของผู้ใหญ่ ไม่ใช่นะคะ เทคโนโลยีมันพัฒนาทุกวัน ตอนนี้มันเข้าสู่ระบบ 3 จี ถ้าคุณยังไม่เข้าใจว่า 3 จีคืออะไร คุณไม่ได้ถอยกลับไปใช้ศูนย์จีแล้วก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่เรียนรู้ว่าทางข้างหน้าคืออะไรก็ไม่มีวันที่จะปรับตัวเข้าสู่สังคมได้ ที่สำคัญปรับตัวยังไม่เท่าการตกเป็นเหยื่อ ถูกรังแก ไม่ว่าจะแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ โทรมาขึ้นเบอร์โชว์เป็นเบอร์ธนาคารได้ยังไง เขามีเทคนิคยังไงแล้วหลอกเราได้สนิทใจอะไรแบบนี้ คืออะไรก็ได้ขอให้เรียนรู้เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ


-เคยคิดจะทำเวิร์คชอปเรื่องนี้มั้ย

ส่วนใหญ่เสนอเป็นข่าวมากกว่า แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่พร้อมจะทำเวิร์คชอปแน่ๆ

-ตอนนี้งานที่ทำมีอะไรบ้าง

มีรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เสาร์-อาทิตย์ รายการ 168 ชั่วโมง ช่อง 3 รายการไซเบอร์ ซิตี้ ช่อง 5 รายการของทีเอ็นเอ็น นอกนั้นจะเป็นรายการทางเคเบิลเกี่ยวกับไอที และมีรายการวิทยุ เอฟเอ็ม 106 เป็นรายการไอทีสั้นๆ เกือบทุกวัน ส่วนงานเขียนก็มีคอลัมน์ไทยรัฐออนไลน์ คนดังนั่งเขียน กูรูไอที และคอลัมน์ในเทรนด์แมกกาซีน ไอทีสำหรับหญิง แล้วก็นิตยสารสลิมมิ่ง

-งานเยอะอย่างนี้ จัดสรรเวลาอย่างไรในแต่ละวัน

ยุ่งมากค่ะ คือถ้ายังมีแรงเหลือก็ทำไป แต่ถ้าเป็นเวลาส่วนตัวซีจะไม่จับอุปกรณ์ไอทีเลย จะค่อยๆ รีแลกซ์ เราต้องเป็นตัวอย่างว่าอย่าไปติดมันมากไปจนเป็นอวัยวะเรา

-เคยถึงขนาดมีปัญหาจากการใช้เทคโนโลยีมากไปบางไหม

มีค่ะ สายตาสั้นขึ้นตั้งแต่ทำรายการออนไลน์ มันทุ่มเท บางอย่างทุ่มเทมากไปก็ลำบากเหมือนกัน เพราะว่าตัดต่อเอง ถ่ายเอง เจอไฟ เจออะไรอย่างงี้ มันเยอะอยู่แล้ว สายตาก็ต้องสั้นเยอะขึ้น

อีกอย่างเวลาเราใช้อุปกรณ์ไอทีเยอะๆ อย่างมือถือจอเล็กๆ เวลาใช้ในรถ...ตัวดีเลย เพราะมันเขย่าตลอด บางทีมันมืด เราก็เพ่ง ตาเสียเลยอย่างแรก อย่างที่สองคือ ความคิด จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้ โดยเฉพาะเด็ก

ขนาดซีเองยังเริ่มสมาธิสั้น ช่วงหลังๆ ต้องฝึกสมาธิ เพราะอุปกรณ์ไอที 1 ชิ้นทำได้หลายอย่าง เบื่อแอพนั้น ไปแอพนี้ บางคนใช้ 2 เครื่อง บางคน 3 เครื่องมีไอแพดด้วย อันนี้ยังไม่เสร็จ หยิบอีกอันขึ้นมา อันนี้คุยอยู่ อันนี้ดังติ๊งอีกแล้ว มันทำให้เป็นโรคสมาธิสั้นได้จริงๆ และที่สำคัญคือลืมง่าย จะจำอะไรได้เป็นช่วงๆ แล้วความคิดจะสับสน อันนี้ซีกลัวในเด็กรุ่นใหม่ๆ มาก เพราะฉะนั้นเวลาพักผ่อนซีจะเข้าสู่ยุคเดิม คือ นั่งสมาธิ ฟังเพลง ปล่อยอารมณ์ไปกับสื่อแบบเดิมๆ อ่านหนังสือ เดินดูโน่นนี่ ดูของอะไรอย่างนี้ ไปเดินจตุจักร เล่นกับสุนัขที่บ้าน


-พอจะอนุมานได้มั้ยชีวิตว่าแม้เราจะก้าวไปกับเทคโนโลยีมากขนาดไหน ก็ต้องกลับมาหาเบสิคง่ายๆ ในการดำเนินชีวิต

ถูกต้องค่ะ สูงสุดคืนสู่สามัญเสมอ ยังไงชีวิตเรายังอยู่บนโลกความจริง และชีวิตไม่ได้เดินเร็วเหมือนโลกออนไลน์ที่ทุกอย่างเร็วไปหมด ทุกนาทีต้องมีคนโพสต์อะไรสักอย่าง ข่าวทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่โลกความจริงเราไม่ต้องวิ่งตามโลกไอทีขนาดนั้น

-คิดอย่างไรกับสมญาเจ้าหญิงไอที

ดีใจมากค่ะ ตอนแรกเข้าวงการมาไม่คิดว่า... คือทุกคนอยากได้การยอมรับ เช่นเดียวกัน มันเหมือนกับว่าวันหนึ่งที่เราเป็นที่ยอมรับขึ้นมา การขอประสานงานสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ง่ายไปหมด เมื่อก่อนเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใครต้องการอะไรจากเขา ตอนนี้ก็ง่ายขึ้น เราผ่านจุดที่ยากสุดมากแล้ว และเมื่อได้สมญานามนี้มา..ดีใจมาก ภูมิใจพอๆ กับเอนท์ติดเลย ที่สำคัญคือสิ่งที่เราฝ่าฟันมาแล้วคนเห็นว่าเราทำอะไรอยู่ มันเป็นรางวัลที่มีค่ากับเรามาก

-มองตัวเองในอนาคตไว้อย่างไร

อีก 5 ปีข้างหน้าซีสัญญากับตัวเองว่าต้องออกนวัตกรรมบางอย่าง คืออยากเป็นอินเวสเตอร์แล้ว ซีมาถึงจุดที่เห็นเทคโนโลยีหลากหลายและเยอะมาก บางทีหยิบเล็กผสมน้อย จนวาดฝันผลงานเล็กๆ ของตัวเองไว้หลายชิ้นที่อยากทำออกมาให้ทุกคนได้ใช้ ตอนนี้ก็รอว่าจะได้เจอคนที่เป็นจิ๊กซอว์มาช่วยให้ประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ สำหรับซีต้องบอกว่า “ไอที อิทส์มายไลฟ์” เลยฝันทางนี้ตลอดค่ะ

Posted Image

Posted Image

Posted Image

Posted Image


credit from
http://www.bangkokbi...8%E0%B9%8C.html
1

#2 User is offline   DekindyArm 

  • Advanced Member
  • Icon
  • Group: Members
  • Posts: 354
  • Joined: 23-September 10
  • Locationbangkok

Posted 09 March 2012 - 09:36 PM

:Emoticon-093_panda: :Emoticon-093_panda: ไม่ผิดหวังที่ยกให้เป็นไอดอลด้านนี้ ภูมิใจแทนเวลาเห็นคนชมพี่ :Emoticon-095_panda: :Emoticon-095_panda: :Emoticon-095_panda:
@DekindyArm[/size]

Posted Image
0

Page 1 of 1
  • You cannot start a new topic
  • You cannot reply to this topic

1 User(s) are reading this topic
0 members, 1 guests, 0 anonymous users